counter





________________________________________________________________________________________________
วิธีเจริญจิตภาวนา ตามแนวการสอนของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

        ๑. เริ่มต้นอิริยาบถที่สบาย ยืน เดิน นั่ง นอน ได้ตามสะดวก  [ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปแบบการปฏิบัติสมถสมาธิ  ทำในขณะจิตตื่นปกติในวิถีชีวิตประจำวันได้ ในช่วงว่างๆ ใจสงบ สบาย แค่ไม่ซัดส่ายส่งออกไปปรุงแต่งในเรื่องต่างๆนาๆ  หรือถ้าต้องการใช้สมาธิก็ใช้ระดับขณิกสมาธิก็พอเพียงแล้ว การใช้สมาธิที่ลึกละเอียดมักจะทำให้เกิดภวังค์และนิมิต เลื่อนไหลไปท่องเที่ยวอยู่ในจิตภายในอันเป็นปฏิปักษ์กับการเจริญวิปัสสนานี้]         ทำความรู้ตัวเต็มที่ และ รู้อยู่กับที่ โดยไม่ต้องรู้อะไร คือ รู้ตัว อย่างเดียว [มีสติแค่รู้อยู่อย่างสบายๆ  แต่ก็ไม่คิด,ไม่คิดนึกปรุงแต่งใดๆทั้งสิ้น  ใหม่ๆก็ยากหน่อยเป็นธรรมดา  เพราะธรรมชาติของจิตปุถุชนโดยทั่วไป ย่อมมักจะส่งส่ายออกไปคิดนึกปรุงแต่งต่างๆนาๆ หรือปรุงแต่งตามสิ่งที่มาผัสสะผ่านทางอายตนะภายใน อันมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ]         รักษาจิตเช่นนี้ไว้เรื่อยๆ ให้ "รู้อยู่เฉยๆ" ไม่ต้องไปจำแนกแยกแยะ  อย่าบังคับ  อย่าพยายาม  อย่าปล่อยล่องลอยตามยถากรรม [คือ อย่าปล่อยให้เลื่อนไหลไปตามความคิดนึกปรุงแต่ง หรือการเลื่อนไหลไปตามกำลังอำนาจสมาธิที่ลึกเกินไป เช่น ภาพนิมิต หรือนามนิมิตเช่นความคิดนึกปรุงแต่งต่างๆนาๆ ที่ผุดขึ้นขณะอยู่ในสมาธิที่ลึกเกินไป  และระวังอาการจิตที่เรียกว่าจิตส่งใน]         เมื่อรักษาได้สักครู่ จิตจะคิดแส่ไปในอารมณ์ต่างๆ  [แส่ไปตามความคิด,คิดนึกปรุงแต่งต่างๆ   หรือการสอดแส่ไปใน อารมณ์ อันหมายถึงในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จากภายนอกต่างๆที่มากระทบได้] โดยไม่มีทางรู้ทันก่อนเป็นธรรมดา  [จึงหมายถึงต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ถูกต้องไม่ต้องกังวล  และจะเกิดอย่างนี้เป็นประจำเสมอๆ แต่อย่าท้อแท้เพราะเป็นเช่นนี้เป็นธรรมดา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง]สำหรับผู้ฝึกใหม่  ต่อเมื่อจิตแล่นไป คิดไปในอารมณ์นั้นๆ จนอิ่มแล้ว ก็จะรู้สึกตัวขึ้นมาเอง [ทำดังนี้ให้เชี่ยวชาญชำนาญยิ่ง]  เมื่อรู้สึกตัวแล้วให้พิจารณาเปรียบเทียบภาวะของตนเอง ระหว่างที่มีความรู้อยู่กับที่[มีสติ] และระหว่างที่จิตคิดไปในอารมณ์ [จิตที่สอดแส่ไปคิด,คิดนึกปรุงแต่งต่างๆนาๆ  หรือปรุงไปใน รูป เสียง ฯ.ที่กระทบ] ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร  เพื่อเป็นอุบายสอนจิตให้จดจำ [คือสังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่าง จิตมีความรู้ตัวอยู่กับที่คือมีสติ  กับ  จิตขณะปรุงแต่งย่อมเกิดการผัสสะจึงย่อมเกิดเวทนาต่างๆเป็นสุขเป็นทุกข์ขึ้นเป็นธรรมดา จึงย่อมเห็นความแตกต่างได้ชัดเจน  อันจะยังให้เกิดปัญญาหรือญาณอันสำคัญยิ่ง จากการได้เห็นได้หยั่งรู้ได้ด้วยตัวตนเอง-ปัจจัตตัง]         จากนั้น ค่อยๆ รักษาจิตให้อยู่ในสภาวะรู้อยู่กับที่ต่อไป [มีสติ  รักษาสติอย่าให้เลื่อนไหลไปสู่สมาธิหรือฌานที่ลึกละเอียดประณีต  เพราะ ณ ขณะนี้เป็นการฝึกสติให้เห็นจิต อย่างต่อเนื่อง มิใช่การมุ่งเน้นทำสมถสมาธิ แต่เป็นการมุ่งเน้นวิปัสสนา]  ครั้นพลั้งเผลอรักษาไม่ดีพอ จิตก็จะแล่นไปเสวยอารมณ์ข้างนอกอีก [เป็นธรรมดาโดยธรรมชาติของจิต อีกเช่นเดิม เพราะย่อมเกิดขึ้นบ่อยๆทีเดียวเป็นธรรมดา จึงไม่ต้องท้อแท้หรือหงุดหงิดเมื่อเกิดขึ้น  แต่เมื่อจิตปรุงแต่ง]จนอิ่มแล้ว ก็จะกลับรู้ตัว รู้ตัวแล้วก็พิจารณา และรักษาจิตต่อไป [ขณะที่จิตอิ่มตัว แล้วกลับมารู้ตัวหรือมีสตินั้น  ต้องอุเบกขา คือไม่เอนเอียงไปแทรกแซงด้วยถ้อยคิดกริยาจิตใดๆในเรื่องนั้นอีกด้วย]         ด้วยอุบายอย่างนี้ ไม่นานนัก ก็จะสามารถควบคุมจิตได้ และบรรลุสมาธิ [เป็นสัมมาสมาธิ เพื่อการวิปัสสนา ที่ไม่ได้มุ่งหวังในความสงบสุขสบายแต่อย่างใด] ในที่สุด และจะเป็นผู้ฉลาดใน "พฤติแห่งจิต"[กริยา อาการ และการกระทำของจิต] โดยไม่ต้องไปปรึกษาหารือใคร [อันจะสั่งสมจนเกิดเป็น สังขาร อันมิได้เกิดแต่อวิชชา  แต่เป็น สังขารที่เกิดแต่วิชชาที่จะนำพาให้พ้นทุกข์อย่างถาวรต่อไป]         ข้อห้าม ในเวลาจิตฟุ้งเต็มที่ อย่าทำ เพราะไม่มีประโยชน์ และยังทำให้บั่นทอนพลังความเพียร ไม่มีกำลังใจในการเจริญจิตครั้งต่อๆ ไป  [เพราะการปฏิบัติขณะจิตฟุ้งด้วยกำลังแรงกล้า ก็จะไม่บังเกิดผลเพราะใจที่ซัดส่ายและเพราะขาดความชำนาญ หรือขาดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในขั้นต้น  ดังนั้นเมื่อไม่เห็นผลได้ด้วยตนเองก็ย่อมเกิดความท้อแท้ หรือวิจิกิจฉาว่าไม่ถูกต้อง อันย่อมบั่นทอนความเชื่อความเข้าใจไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้ไม่มีกำลังใจในการปฏิบัติครั้งต่อๆไป] [ผู้ที่เห็นจิต - จิตสังขาร - สังขารขันธ์อันคือความคิดความนึก และเวทนา ได้แล้วและค่อนข้างสมํ่าเสมอจากความเข้าใจปฏิจจสมุปบาทหรือขันธ์๕ อาจข้ามไปที่ข้อ ๒ เลย]         ในกรณีที่ไม่สามารถทำเช่นนี้ [เนื่องจากไม่เคยปฏิบัติในแนววิปัสสนาให้เห็นจิต หรือความคิดความนึก หรือเพราะยังไม่มีสัมมาสมาธิอย่างถูกต้อง] ให้ลองนึกคำว่า "พุทโธ" หรือคำอะไรก็ได้ที่ไม่เป็นเหตุเย้ายวน หรือเป็นเหตุขัดเคืองใจ นึกไปเรื่อยๆ แล้วสังเกตดูว่า คำที่นึกนั้น ชัดที่สุดที่ตรงไหน ที่ตรงนั้นแหละคือฐานแห่งจิต         พึงสังเกตว่า ฐานนี้ไม่อยู่คงที่ตลอดกาล บางวันอยู่ที่หนึ่ง บางวันอยู่อีกที่หนึ่ง [เป็นอุบายวิธีเพื่อหาที่ให้จิตรวมเป็นหนึ่ง เป็นสัมมาสมาธินั่นเอง]         ฐานแห่งจิตที่คำนึงพุทโธปรากฏชัดที่สุดนี้ ย่อมไม่อยู่ภายนอกกายแน่นอน ต้องอยู่ภายในกายแน่ แต่เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้ว จะเห็นว่าฐานนี้จะว่าอยู่ที่ส่วนไหนของร่างกายก็ไม่ถูก ดังนั้น จะว่าอยู่ภายนอกก็ไม่ใช่ จะว่าอยู่ภายในก็ไม่เชิง เมื่อเป็นเช่นนี้ แสดงว่าได้กำหนดถูกฐานแห่งจิตแล้ว         เมื่อกำหนดถูก และพุทโธปรากฏในมโนนึก(ความคิดนึก)ชัดเจนดี ก็ให้กำหนดนึกไปเรื่อย อย่าให้ขาดสายได้         ถ้าขาดสายเมื่อใด จิตก็จะแล่นสู่อารมณ์ทันที         เมื่อเสวยอารมณ์อิ่มแล้ว จึงจะรู้สึกตัวเองก็ค่อยๆ นึกพุทโธต่อไป ด้วยอุบายวิธีในทำนองเดียวกับที่กล่าวไว้เบื้องต้น ในที่สุดก็จะค่อยๆ ควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจได้เอง         ข้อควรจำ ในการกำหนดจิตนั้น ต้องมีเจตจำนงแน่วแน่ ในอันที่จะเจริญจิตให้อยู่ในสภาวะที่ต้องการ เจตจำนงนี้ คือ ตัว "ศีล" [ข้อกำหนด ข้อบังคับ ตั้งเจตนาเพื่อให้มีความตั้งใจอันแน่วแน่]         การบริกรรม "พุทโธ" เปล่าๆ โดยไร้เจตจำนงไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย กลับเป็นเครื่องบั่นทอนความเพียร ทำลายกำลังใจในการเจริญจิตในคราวต่อๆ ไป         แต่ถ้าเจตจำนงมั่นคง การเจริญจิตจะปรากฏผลทุกครั้งไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน         ดังนั้น ในการนึก พุทโธ การเพ่งเล็งสอดส่อง ถึงความชัดเจน และความไม่ขาดสายของพุทโธ จะต้องเป็นไปด้วยความไม่ลดละ         เจตจำนงที่มีอยู่อย่างไม่ลดละนี้ หลวงปู่เคย เปรียบไว้ว่า มีลักษณาการประหนึ่งบุรุษหนึ่งจดจ้องสายตาอยู่ที่คมดาบที่ข้าศึกเงื้อขึ้นสุดแขนพร้อมที่จะฟันลงมา บุรุษผู้นั้นจดจ้องคอยทีอยู่ว่า ถ้าคมดาบนั้นฟาดฟันลงมา ตนจะหลบหนีประการใดจึงจะพ้นอันตราย [แต่ก็ต้องนุ่มนวล ไม่ตึงเครียดจนเกิดอาการต่างๆ]         เจตจำนงต้องแน่วแน่เห็นปานนี้ จึงจะยังสมาธิให้บังเกิดได้ ไม่เช่นนั้นอย่าทำให้เสียเวลา และบั่นทอนความศรัทธาตนเองเลย         เมื่อจิตค่อยๆ หยั่งลงสู่ความสงบทีละน้อย ๆ อาการที่จิตแล่นไปสู่อารมณ์ [เช่น การคิดนึกปรุงแต่ง,รูป,เสียง ฯ.] ภายนอก ก็ค่อย ๆ ลดความรุนแรงลง ถึงไปก็ไปประเดี๋ยวประด๋าว ก็รู้สึกตัวได้เร็ว ถึงตอนนี้คำบริกรรมพุทโธ ก็จะขาดไปเอง เพราะคำบริกรรมนั้นเป็นอารมณ์หยาบ เมื่อจิตล่วงพ้นอารมณ์หยาบ และคำบริกรรมขาดไปแล้ว ไม่ต้องย้อนถอยมาบริกรรมอีก เพียงรักษาจิตไว้ในฐานที่กำหนดเดิมไปเรื่อยๆ และสังเกตดูความรู้สึกและ "พฤติแห่งจิต" ที่ฐานนั้น ๆ [คำบริกรรม  พุทโธ  ก็คือ จิตสังขารหรือสังขาร(สิ่งปรุงแต่ง)อันเกิดแต่จิต หรือความคิดอย่างหนึ่ง ดังนั้นการบริกรรมภาวนาอย่างมีสติ ไม่เลื่อนไหลไปคิดปรุงหรือเลื่อนไหลลงภวังค์ จึงเท่ากับเป็นการฝึกจิตหรือสติโดยตรง ให้เห็นจิต หรือจิตตสังขาร หรืออาการของจิตบางประการ-เจตสิก]         บริกรรมเพื่อรวมจิตให้เป็นหนึ่ง  สังเกตดูว่า ใครเป็นผู้บริกรรมพุทโธ         ๒. ดูจิตเมื่ออารมณ์สงบแล้ว ให้สติจดจ่ออยู่ที่ฐานเดิมเช่นนั้น เมื่อมีอารมณ์อะไรเกิดขึ้น ก็ให้ละอารมณ์นั้นทิ้งไป มาดูที่จิตต่อไปอีก ไม่ต้องกังวลใจ พยายามประคับประคองรักษาให้จิตอยู่ในฐานที่ตั้งเสมอๆสติคอยกำหนดควบคุมอยู่อย่างเงียบๆ (รู้อยู่) ไม่ต้องวิจารณ์กิริยาจิตใดๆ ที่เกิดขึ้น เพียงกำหนดรู้ แล้วละไปเท่านั้น  เป็นไปเช่นนี้เรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ เข้าใจกิริยาหรือพฤติแห่งจิตได้เอง (จิตปรุงกิเลส หรือ กิเลสปรุงจิต) [จิตปรุงกิเลส คืออาการที่จิตส่งออกไปคิดนึกปรุงแต่งจนเกิดกิเลสขึ้น , ส่วนกิเลสปรุงจิต เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายนอก กระทบผัสสะกับ อายตนะภายใน แล้วเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสขึ้น  หรือถ้าพิจารณาจากปฏิจจสมุปบาท จิตปรุงกิเลส ก็คือองค์ธรรมสังขารอันเกิดแต่อวิชชา  ส่วนกิเลสปรุงจิต ก็คืออาการที่เกิดขึ้นจากสฬายตนะ กระทบผัสสะกับ อายตนะภายนอกนั่นเอง  ดูรูปประกอบในการพิจารณา ]         ทำความเข้าใจในอารมณ์ความนึกคิด สังเกตอารมณ์ ทั้งสาม คือ ราคะ โทสะ โมหะ [อารมณ์ในที่นี้ คือ ราคะ โทสะ โมหะ อันเป็น จิตสังขารประเภทอาการของจิต(เจตสิก) หรือสังขารขันธ์นั่นเอง  และควรรวมเวทนาหรือความรู้สึกรับรู้ที่เกิดขึ้นไว้ด้วย เช่น สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา มีอามิส หรือไม่มีอามิสเป็นต้น  เพราะสังขารบางอย่างนั้นสามารถเห็นเวทนาได้ชัดและรวดเร็วกว่าความคิดปรุงแต่ง เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ได้เพราะทั้ง๒ที่เห็นได้นี้ต่างล้วนถูกต้องดีงาม]         ๓. อย่าส่งจิตออกนอก กำหนดรู้อยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น อย่าให้ซัดส่ายไปในอารมณ์ภายนอก [ความคิดนึกที่ส่งออกไปปรุงแต่งอารมณ์อันมี รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ จากภายนอกกาย]เมื่อจิตเผลอคิดไปก็ให้ตั้งสติระลึกถึงฐานกำหนดเดิม รักษาสัมปชัญญะให้สมบูรณ์อยู่เสมอ (รูปนิมิตให้ยกไว้ ส่วนนามนิมิตทั้งหลาย อย่าได้ใส่ใจกับมัน) [เพราะในบางครั้งอาจเกิดรูปนิมิตหรือภาพผุดขึ้นในใจบ้างเป็นธรรมดา  แต่ถ้าเป็นนามนิมิตอันคือคำบริกรรมหรือความคิดความนึกที่เกิดขึ้นที่ผุดขึ้นก็อย่าใส่ใจ ให้ละกลับไปอยู่ที่สติหรือฐานกำหนดเดิม]         ระวัง จิตไม่ให้คิดเรื่องภายนอก [ออกไปความคิดนึกปรุงแต่ง] สังเกตการหวั่นไหวของจิตตามอารมณ์ที่รับมาทางอายตนะ ๖         ๔. จงทำญาณให้เห็นจิต เหมือนดั่งตาเห็นรูป  เมื่อเราสังเกตกิริยาจิตไปเรื่อย ๆ จนเข้าใจถึงเหตุปัจจัยของอารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ได้แล้ว จิตก็จะค่อย ๆ รู้เท่าทันการเกิดของอารมณ์ [ความคิด,ความนึก]ต่างๆ  อารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ก็จะค่อยๆ ดับไปเรื่อยๆ จนจิตว่างจากอารมณ์ [ว่างจากสิ่งที่ไปกำหนดยึดหมาย เช่น ความคิดนึกปรุงแต่ง หรือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส] แล้วจิตก็จะเป็นอิสระ อยู่ต่างหากจากเวทนาของรูปกาย อยู่ที่ฐานกำหนดเดิมนั่นเอง การเห็นนี้เป็นการเห็นด้วยปัญญาจักษุ  [จิตเป็นอิสระ อยู่ต่างหากจากเวทนาของรูปกาย  ไม่ได้หมายถึงการแยกกาย ออกจากจิตโดยการกระทำหรือการปฏิบัติใดๆ โดยตรง  แต่หมายความว่ากระทำหรือปฏิบัติจน จิตเป็นอิสระว่างจากอารมณ์ คือว่างจากสิ่งที่จิตไปยึดเหนี่ยว  จึงย่อมยังผลให้ไม่เกิดการผัสสะต่างๆ  เวทนาอันต้องอาศัยการผัสสะต่างๆย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ]         คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้   ต่อเมื่อหยุดคิดจึงรู้   แต่ต้องอาศัยการคิด [อันหมายถึง คิดนึกปรุงแต่งเท่าไรก็ย่อมไม่รู้จักนิโรธ-การดับทุกข์   แต่เมื่อหยุดคิดนึกปรุงแต่งอันยังให้ไม่เกิดเวทนาอันเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาและทุกข์นั่นแหละจึงจักรู้และพบนิโรธ   แต่ก็ต้องอาศัยการคิดพิจารณาธรรมโดยการโยนิโสมนสิการเสียก่อนจึงจักเกิดสัมมาญาณอันเป็นความเข้าใจ]         ๕. แยกรูปถอด ด้วยวิชชา มรรคจิต [มรรคจิต-การปฏิบัติให้พ้นทุกข์ทางจิตหรือปัญญานั่นเอง คือการปฏิบัติโดยการเห็นจิต-ความคิดนึก ความคิดนึกปรุงแต่ง หรือเหล่าจิตสังขารนั่นเอง อันหมายรวมถึงเวทนาอันเป็นส่วนหนึ่งของจิต  อันเป็นไปตามหลักจิตตานุปัสนา เวทนานุปัสสนา ใน สติปัฏฐาน๔ นั่นเอง] เมื่อสามารถเข้าใจได้ว่า จิต กับ กาย อยู่คนละส่วนได้แล้ว [คนละส่วนหรือคนละกอง แต่ก็มีความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลกันอยู่] ให้ดูที่จิตต่อไปว่า ยังมีอะไรหลงเหลืออยู่ที่ฐานที่กำหนด (ในจิต) อีกหรือไม่ พยายามให้สติสังเกตดูที่ จิต ทำความสงบอยู่ใน จิต ไปเรื่อยๆ จนสามารถเข้าใจพฤติของจิตได้อย่างละเอียดลออตามขั้นตอน  เข้าใจในความเป็นเหตุเป็นผลกันว่า เกิดจากความคิดมันออกไปจากจิตนี่เอง ไปหาปรุงหาแต่ง หาก่อ หาเกิด ไม่มีที่สิ้นสุด [เป็นปรมัตถสัจจะ หรือสภาวธรรม คือเมื่อสอดส่ายออกไปปรุงแต่งก็ย่อมเกิดการกระทบผัสสะ อันย่อมยังผลให้เกิดขึ้นเป็นธรรมดา ตามเหตุปัจจัยที่กระทบนั้น] มันเป็นมายาหลอกลวงให้คนหลง แล้วจิตก็จะเพิกถอนสิ่งที่มีอยู่ในจิตไปเรื่อยๆ จนหมด หมายถึงเจริญจิตจนสามารถเพิกรูปปรมาณูวิญญาณที่เล็กที่สุดภายในจิตได้ [หมายถึงการเพิกถอนอาสวะกิเลส อันละเอียดอ่อนนอนเนื่องอยู่ในจิต]         คำว่า แยกรูปถอด นั้น หมายความถึง แยกรูปวิญญาณ นั่นเอง [ในที่นี้หมายถึงแยกให้เห็น อันมีความหมายถึงการแยกที่ใช้ความเข้าใจทางปัญญา เกี่ยวกับการทำงานของกายและจิต และต้องเข้าใจความสัมพันธ์อันเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน  หรือแยกตัวตนให้เห็นทั้งขันธ์๕ก็ได้ อันเป็นเช่นเดียวกัน  เมื่อเห็นแล้วย่อมเป็นกำลังของปัญญาหรือจิตในการปฏิบัติให้บรรลุจุดหมาย  หลายท่านคงเคยเห็นความคิดปรุงแต่งที่ก่อให้เกิดทุกข์อย่างดีแต่ไม่สามารถหยุดมันได้ก็เพราะขาดกำลังของปัญญาหรือจิตนี่เอง   จึงมิได้หมายถึงการปฏิบัติที่พยายามจะแยกกายและจิตจริงๆทางสมาธิ เช่นแยกจิตออกเป็นดวงต่างออกจากกายโดยนิมิต แบบต่างๆ(ทั้งแบบรูปนิมิต และนามนิมิต)อันเป็นความเข้าใจผิด    แต่เป็นการแยกกายและจิตด้วยปัญญา]         ๖. เหตุต้องละ ผลต้องละ เมื่อเจริญจิตจนปราศจากความคิดปรุงแต่งได้แล้ว (ว่าง) [หมายถึงว่างจากความคิดนึกปรุงแต่ง มิได้หมายถึงการไปยึดหมายความว่าง อันอาจก่อเป็นอรูปฌานหรือรูปละเอียดได้] ก็ไม่ต้องอิงอาศัยกับกฎเกณฑ์แห่งความเป็นเหตุเป็นผลใด ๆ ทั้งสิ้น จิตก็อยู่เหนือภาวะแห่งคลองความคิดนึกต่างๆ อยู่เป็นอิสระ ปราศจากสิ่งใดๆ ครอบงำอำพรางทั้งสิ้น          [เมื่อเจริญจิตจนจิตว่างจากการปรุงแต่งแล้ว  ถึงอย่างไรก็ยังคงมีเหตุบางอย่างที่เป็นสภาวะแห่งธรรมชาติ หรือหน้าที่อันพึงกระทำอยู่บ้าง  อันมิสามารถละเหตุนั้นได้ ก็ต้องไม่ยึดในผลหรือกรรมวิบากที่ยังคงเกิดเป็นธรรมดานั้นด้วยเช่นกัน  ดังเช่น ความเจ็บป่วย ตลอดจนเรื่องทางโลกบางประการก็เป็นเช่นนั้น  ท่านจึงกล่าวไว้ว่า เหตุต้องละ  อันรวมถึงเหตุบางประการที่ยังละไม่ได้ดังที่กล่าวอันย่อมยังให้เกิดผลขึ้นบ้างเป็นธรรมดาไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หรือกรรมวิบากนั่นเอง ก็ต้องละที่ผลนั้น  ละอันหมายถึง โดยการไม่ไปยึด ไม่ปรุงแต่งต่อจากผลกรรมนั้นอีกเช่นเดียวกัน   จึงเกิดปรากฎการณ์ที่พระอริยเจ้ากล่าวอยู่เนืองๆ ว่า " เหตุแห่งทุกข์นั้นยังคงมีอยู่  แต่ไม่มีผู้รับผลทุกข์นั้น " หรือเรียกว่าสภาวะ " เหนือกรรม " คือกรรมวิบากหรือผลของกรรมนั้นยังคงมีอยู่ แต่ไม่เป็นทุกข์นั่นเอง]         เรียกว่า "สมุจเฉทธรรมทั้งปวง" [การตัดขาดทั้งปวง]         ๗. ใช้หนี้--ก็หมด พ้นเหตุเกิด เมื่อเพิกรูปปรมาณูที่เล็กที่สุดเสียได้ กรรมชั่วที่ประทับ บรรจุ บันทึก ถ่ายภาพ ติดอยู่กับรูปปรมาณูนั้น [หมายถึงอาสวะกิเลส อันละเอียดอ่อนนอนเนื่องอยู่ในจิต]ก็หมดโอกาสที่จะให้ผลต่อไปในเบื้องหน้า การเพิ่มหนี้ก็เป็นอันสะดุดหยุดลง เหตุปัจจัยภายนอกภายในที่มากระทบ ก็เป็นสักแต่ว่ามากระทบ [ยังคงมีการกระทบกันอยู่ อันเป็นสภาวะธรรมอันเป็นเช่นนั้นเอง แต่]ไม่มีผลสืบเนื่องต่อไป[ให้เกิดทุกข์ได้อีก] หนี้กรรมชั่วที่ได้ทำไว้ตั้งแต่ชาติแรก[อันบันทึกจดจำไว้ในรูปของอาสวะกิเลสนั่นเอง] ก็เป็นอันได้รับการชดใช้หมดสิ้น หมดเรื่องหมดราวหมดพันธะผูกพันที่จะต้องเกิดมาใช้หนี้กรรมกันอีก เพราะ กรรมชั่วอันเป็นเหตุให้ต้องเกิดอีก ไม่อาจให้ผลต่อไปได้ เรียกว่า "พ้นเหตุเกิด"         ๘. ผู้ที่ตรัสรู้แล้ว เขาไม่พูดหรอกว่า เขารู้อะไร เมื่อธรรมทั้งหลายได้ถูกถ่ายทอดไปแล้ว สิ่งที่เรียกว่า ธรรม จะเป็นธรรมไปได้อย่างไร สิ่งที่ว่า ไม่มีธรรม นั่นแหละมันเป็นธรรมของมันในตัว (ผู้รู้น่ะจริง แต่สิ่งที่รู้ทั้งหลายนั้นไม่จริง)         เมื่อจิตว่างจาก "พฤติ" ต่างๆ แล้ว จิตก็จะถึง ความว่างที่แท้จริง ไม่มีอะไรให้สังเกตได้อีกต่อไป จึงทราบได้ว่าแท้ที่จริงแล้ว จิตนั้นไม่มีรูปร่าง มันรวมอยู่กับความว่าง ในความว่างนั้น ไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ ซาบซึมอยู่ในสิ่งทุกๆ สิ่ง และจิตกับผู้รู้[สติ]เป็นสิ่งเดียวกัน [จิตนั้นไม่มีตัวมีตน ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย จริงๆแล้วจึงเกิดๆดับๆ ดังเช่น เมื่อความคิดหนึ่งเกิดขึ้นกระทบผัสสะกับมโนทวารหรือใจ จิตหนึ่งก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่อย่างแปรปรวน แล้วก็ดับไปเป็นที่สุด,  ดังนั้นเมื่อไม่มีการผัสสะหรือการกระทบ จิตหนึ่งนั้นจึงเปรียบเสมือนความว่าง อันไม่มีรูปร่าง ขอบเขต ขนาดใดๆ จึงราวกับซึมซาบอยู่ในทุกๆสิ่ง อันหมายถึงสิ่งที่มันจะไปกระทบสัมผัสนั่นเอง อันรวมทั้งการกระทบอันเกิดแต่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันต้องส่งผลถึงมโนจิตเป็นที่สุด หรือที่หลวงปู่เรียกว่าสำนักงานจิตกลาง]         เมื่อจิตกับผู้รู้[สติ]เป็นสิ่งเดียวกัน และเป็นความว่าง ก็ย่อมไม่มีอะไรที่จะให้อะไรหรือให้ใครรู้ถึง ไม่มีความเป็นอะไรจะไปรู้สภาวะของอะไร ไม่มีสภาวะของใครจะไปรู้ความมีความเป็นของอะไร         เมื่อเจริญจิตจนเข้าถึงสภาวะเดิมแท้ของมันได้ดังนี้แล้ว "จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง" จิตก็จะอยู่เหนือสภาวะสมมุติบัญญัติทั้งปวง เหนือความมีความเป็นทั้งปวง มันอยู่เหนือคำพูด และพ้นไปจากการกล่าวอ้างใดๆ ทั้งสิ้น เป็นธรรมชาติอันบริสุทธิ์และสว่าง รวมกันเข้ากับความว่างอันบริสุทธิ์และสว่างของ จักรวาลเดิม เข้าเป็นหนึ่งเรียกว่า "นิพพาน"         โดยปกติ คำสอนธรรมะของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล นั้น เป็นแบบ "ปริศนาธรรม" มิใช่เป็นการบรรยายธรรม ฉะนั้น คำสอนของท่านจึงสั้น จำกัดในความหมายของธรรม เพื่อไม่ให้เฝือหรือฟุ่มเฟือยมากนัก เพราะจะทำให้สับสน เมื่อผู้ใดเป็นผู้ปฏิบัติธรรม เขาย่อมเข้าใจได้เองว่า กิริยาอาการของจิตที่เกิดขึ้นนั้นมีมากมายหลายอย่าง ยากที่จะอธิบายให้ได้หมด ด้วยเหตุนั้น หลวงปู่ท่านจึงใช้คำว่า "พฤติของจิต" แทนกิริยา[พฤติกรรม อาการ การกระทำ] ทั้งหลายเหล่านั้น         คำว่า "ดูจิต อย่าส่งจิตออกนอก ทำญาณให้เห็นจิต" เหล่านี้ ย่อมมีความหมายครอบคลุมไปทั้งหมดตลอดองค์ภาวนา แต่เพื่ออธิบายให้เป็นขั้นตอน จึงจัดเรียงให้ดูง่ายเท่านั้น หาได้จัดเรียงไปตามลำดับกระแสการเจริญจิตแต่อย่างใดไม่         [ดูจิต ณ.ที่นี้จึงหมายถึง ให้มีสติเห็นความคิดหรือเวทนาที่เกิดขึ้น จากการกระทบผัสสะ  และมีสติโดยไม่ส่งจิตออกไปคิดนึกปรุงแต่ง  และต้องทำความเข้าใจจิตให้ถูกต้อง  จึงมิได้หมายถึงการเพ่งจี้หรือจิตส่งใน จับจ้องอยู่ที่จิตหรือกายของตนแต่ประการใด]         ท่านผู้มีจิตศรัทธาในทางปฏิบัติ เมื่อเจริญจิตภาวนาตามคำสอนแล้ว ตามธรรมดาการปฏิบัติในแนวนี้ ผู้ปฏิบัติจะค่อยๆ มีความรู้ความเข้าใจได้ด้วยตนเองเป็นลำดับๆ ไป เพราะมีการใส่ใจสังเกตและกำหนดรู้ "พฤติแห่งจิต" อยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าหากเกิดปัญหาในระหว่างการปฏิบัติ ควรรีบเข้าหาครูบาอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระโดยเร็ว หากประมาทแล้วอาจผิดพลาดเป็นปัญหาตามมาภายหลัง เพราะคำว่า "มรรคปฏิปทา" นั้น จะต้องอยู่ใน "มรรคจิต" [การปฏิบัติโดยการเห็นจิต หรือความคิดนึก,คิดนึกปรุงแต่ง,จิตสังขาร,สังขารความคิด  และเวทนา หรือจิตตานุปัสสนาและเวทนานุปัสสนาในสติปัฎฐาน๔ นั่นเอง] เท่านั้น มิใช่มรรคภายนอกต่างๆ นานาเลย         การเจริญจิตเข้าสู่ที่สุดแห่งทุกข์นั้น จะต้องถึงพร้อมด้วย วิสุทธิศีล วิสุทธิธรรม พร้อมทั้ง ๓ ทวาร คือ กาย วาจา ใจ จึงจะยังกิจให้ลุล่วงถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้

http://www.nkgen.com/Jalernjit.htm
 


ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ใช้ศึกษาเป็นธรรมทาน
sthamma.net | Go to Top page2