counter





________________________________________________________________________________________________
กฎแห่งกรรม 
       กฎแห่งกรรม คือ กฎที่แสดงให้เห็นถึงเหตุและผลของการกระทำใดๆ ของมนุษย์ กล่าวคือ ใครกระทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม บุคคลผู้กระทำนั้นจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นๆ เสมอ มิได้เกิดจากการดลบันดาลจากอำนาจของพระเจ้าองค์ใด และไม่มีใครมารับผลของกรรมแทนบุคคลอื่นได้
 
      พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในพระสูตรหนึ่ง ชื่อว่า ปุพพังคสูตร ปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ว่า...
 
 “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ก่อนที่ดวงอาทิตย์จะส่องสว่างเหนือโลกหล้า ย่อมมีแสงเงินแสงทองจับขึ้นที่ขอบฟ้า เป็นนิมิตเบื้องต้นให้เห็นก่อน ฉันใด
ก่อนที่กุศลธรรมทั้งหลายจะบังเกิดขึ้น ย่อมมีสัมมาทิฐิเป็นนิมิตเบื้องต้นให้เห็นก่อน ฉันนั้น"
 
       กฎแห่งกรรม กฎแห่งการกระทำ เป็นกฎแห่งเหตุและผล เป็นกฎของธรรมชาติ คือ ธรรมฝ่ายใดเกิดขึ้นในใจก็ทำกรรมฝ่ายนั้น เกิดกุศลธรรมก็ประกอบกุศลกรรม เกิดอกุศลธรรมก็ประกอบอกุศลกรรม อย่างนี้เรียกว่า ธรรมชาติ กฎแห่งกรรมเป็นเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต คือ ประกอบเหตุอย่างนี้ต้องไปมีผลอย่างนั้น ประสบผลอย่างนี้เพราะประกอบเหตุมาอย่างนั้น กรรม คือ การกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ จะดีหรือชั่ว เจตนาหรือไม่ จะน้อยหรือมาก ทุกเพศทุกวัย ล้วนมีผลทั้งสิ้นที่ไม่มีผลไม่มีเลย ผลบางอย่างปรากฏในปัจจุบันทันตาเห็น บางอย่างเห็นผลตอนตายไปแล้ว กฎแห่งกรรมนี้ไร้ความปรานี ไม่มีข้อยกเว้นให้กับใครๆ ไม่จำกัดเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาใดก็ตามในโลก จะอยู่บนดิน บนน้ำ บนอากาศ ดวงจันทร์ ดวงดาว ก็หนีกฎแห่งกรรมไม่พ้น แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราในสมัยที่ยังเป็นพระบรมโพธิสัตว์นักสร้างบารมีก็ยังต้องเสวยวิบากกรรม เพราะกรรมติดตามตัวเราไปทุกที่ทุกสถานเหมือนเงาติดตามตัว เมื่อเรายังหนีตัวเราไม่พ้น เราก็หนีกฎแห่งกรรมไม่พ้นเหมือนกัน กฎหมายหรือกฎเกณฑ์อะไรบางอย่างในโลกที่มนุษย์สมมติกันขึ้นมา ยังหลีกเลี่ยงเปลี่ยนแปลงได้ ปีนี้ใช้อย่างนี้ปีหน้าเปลี่ยนไปอีกอย่าง แต่กฎแห่งกรรมไม่เคยเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น

“ ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว ทำดีได้ชั่วไม่มี ทำชั่ว ได้ดีก็ไม่มี”

________________________________________________________________________________________________

ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ใช้ศึกษาเป็นธรรมทาน
sthamma.net | Go to Top page2